ความลับของการที่ทำโจทย์คณิตศาสตร์ไม่ได้ดี

คุณรู้สึกไหมว่าการสอนการบ้านคณิตศาสตร์ให้ลูกมันเป็นเรื่องยากเกินกำลัง หรืออาจจะตอนดูใบเสร็จรับเงินผ่อนบ้านแล้วเห็นตัวเลขดอกเบี้ยแล้วยังงงๆว่าเขาคำนวนอย่างไร ถ้าความรู้สึกของคุณเวลาเจออะไรที่ต้องคำนวนแล้วเหมือนจะเป็นลมแล้วละก็ ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับคุณเลย เพราะไม่ว่าฝรั่งหรือไทยอาการก็จะคล้ายๆกัน
งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าประชากรวัยผู้ใหญ่ในอเมริการาว 93% บอกว่าพวกเขามีความรู้สึกเป็นกังวลกับคณิตศาสตร์ไม่ระดับใดก็ระดับหนึ่ง และไม่เพียงแต่ผู้ใหญ่เท่านั้น เด็กๆอายุ 15-16 ปี จาก 34 ประเทศราวๆ 31% จะพวกว่าพวกเขารู้สึกเครียดมากเมื่อต้องทำโจทย์คณิตศาสตร์ 33% จะบอกว่ามีความเครียดในการทำการบ้านคณิตศาสตร์ และเกือบ 60% กล่าวว่าพวกเขาเป็นกังวลว่าการเข้าเรียนคณิตศาสตร์ในห้องเรียนจะเป็นเรื่องยาก
Sian Beilock นักวิทยาศาสตร์ด้านการรับรู้กล่าวว่า แนวความคิดที่ว่าคุณเป็นคนเก่งหรือไม่เก่งคณิตศาสตร์โดยธรรมชาตินั้น มีอยู่ในสังคมของชาวตะวันตก และดูเหมือนว่าสังคมจะยอมรับได้หากคุณไม่เก่งคณิตศาสตร์
แต่พวกเราหลายคนที่กลัวคณิตศาสตร์หรือเชื่อว่าไม่เก่งคณิตศาสตร์นั้นอาจจะกำลังพยายามที่จะหลีกเลี่ยงจากปัญหานี้ ทั้งๆที่เรามีความสามารถเต็มเปี่ยมในการแก้มันด้วยความพยายามเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ตกลงแล้วการกลัวคณิตศาสตร์นั้นคืออะไรแล้วมันมาจากไหน
โรคนี้มีมานานแล้ว
คำว่ากลัวคณิตศาสตร์ (Mathephobia) นั้นได้ถูกนิยามโดยนักคณิตศาสตร์ที่ชื่อว่า Mary de Lellis Gough เมื่อราวปี 1953 หรือราวๆปี 2496 หลังจากได้สังเกตเห็นถึงความพยายามอย่างยากเย็นของบรรดานักเรียน โดยหล่อนบรรยายว่า “มันคือโรคที่มีความเป็นอันตรายสูงก่อนที่เราจะพบว่ามีมันอยู่”
ส่วนผู้เชี่ยวชาญท่านอื่นๆได้นิยามการกลัวคณิตศาสตร์ไว้ว่า “ความตื่นตระหนก หมดหวัง อัมพาต และการจัดการจิตใจตัวเองไม่ได้ ซึ่งจะเกิดขึ้นในกลุ่มคนบางกลุ่มเวลาที่พวกเขาต้องแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์” และ “ความกลัวที่จะต้องไปเกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์”
นักวิทยาศาสตร์อีกท่านได้แสดงให้เห็นว่าความกังวลเกี่ยวกับคณิตศาสตร์นั้นจะเริ่มต้นเมื่อเราเริ่มเข้าโรงเรียน โดยหล่อนกล่าวว่า คณิตศาสตร์ถือสิ่งแรกที่จะได้พบเจอในวัฒนธรรมตะวันตกที่เราจะได้เรียนรู้ว่าเราทำสิ่งนั้นผิดหรือถูก และเรามักจะต้องเผชิญกับการถูกประเมินด้วยข้อสอบแบบจำกัดเวลา
ผู้หญิงอาจจะอ่อนไหวกว่าผู้ชายที่จะต้องเผชิญกับสิ่งนี้ โดย Beilock กล่าวว่าครูระดับประถม(ที่ไม่ใช่ครูคณิตศาสตร์)มักจะมีความกลัวคณิตศาสตร์ในระดับสูงทั้งในอเมริกาและประเทศอื่นๆ และส่วนใหญ่แล้วจะเป็นครูผู้หญิง และเนื่องจากเด็กเล็กมักจะมีความคล้อยตามกับครูที่มีเพศเดียวกับตนเอง นั่นหมายถึงว่าเด็กผู้หญิงมักจะเก็บเอาความรู้สึกกลัวคณิตศาสตร์จากครูผู้หญิงมาด้วย
และการมีครูผู้หญิงที่กลัวคณิตศาสตร์ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า มันทำให้เด็กผู้หญิงมักจะรับรู้และคล้อยตามเกี่ยวกับความรู้สึกคณิตศาตร์จากครู เลยทำให้ประสพผลสำเร็จในการเรียนน้อยกว่า
ผลวิจัยจากนักจิตวิทยา Darcy Hallett จาก Memorial University of Newfoundland ในประเทศแคนาดา ผู้ซึ่งได้ศึกษาความกังวลด้านคณิตศาสตร์ ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า การต้องประสบกับสิ่งต่อไปนี้ตั้งแต่ยังเล็ก เช่นการเข้าถึงครูไม่ได้ หรือครูที่แสดงอารมณ์กราดเกรี้ยว หรือความรู้สึกที่ว่าเรื่องที่เรียนนั้นผ่านไปเร็วเกินไป ทั้งหลายนี้จะสัมพันธ์กับความกังวลทางคณิตศาสตร์
เมื่อคุณมีความกังวลกับคณิตศาสตร์เกิดขึ้น มันจะฝังตัวอยู่นาน ความกังวลเกี่ยวกับมันจะทำให้มันยิ่งเลวร้ายลง โดย Beilock ซึ่งได้ทำการศึกษากับเด็กๆอายุระหว่าง 5 ถึง 8 ขวบ ให้ข้อคิดเห็นว่าความกังวลเกี่ยวกับคณิตศาสตร์นั้นจะไปขัดขวางประสิทธิภาพโดยการปิดกั้นบางส่วนของสมองที่กำลังถูกใช้งานอยู่
เขากล่าวว่า “เนื่องจากความสามารถในการคงสมาธินั้นมีขีดจำกัด ความสนใจของเราจะถูกแบ่งออกไปเมื่อเราต้องทำกิจกรรมหลายๆอย่างพร้อมๆกัน” เขากล่าวต่ออีกว่า “ถ้าเรากำลังกังวลว่าจะต้องแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ จิตส่วนหนึ่งจะบอกว่าคุณทำไม่ได้แต่ในเวลาเดียวกันจิตใจอีกส่วนกำลังพยายามจะแก้ปัญหานั้นอยู่”
และเมื่อคนมีความกังวลเกี่ยวกับคณิตศาสตร์พวกเขามักจะหลีกเลี่ยงมัน แต่เนื่องจากคณิตศาสตร์นั้นต้องเรียนรู้จากขั้นพื้นฐานแล้วต่อยอดจากพื้นฐานที่มีอยู่ การหลีกเลี่ยงประเด็นใดประเด็นหนึ่งจะทำให้ตามไม่ทัน
คณิตศาสตร์คือการเรียนรู้ที่ต้องอาศัยการสะสมความรู้เก่า การที่คุณพลาดแนวคิดบางอย่างไป มันจะเป็นการยากที่จะเรียนรู้เรื่องต่อไป และกลายเป็นว่าคุณจะเรียนไม่ทัน ซึ่งจะยิ่งทำให้มีความกังวลมากขึ้นจนกลายเป็นกลัวคณิตศาสตร์ ซึ่งเมื่อเทียบกับวิชาอื่นๆแล้วเราแยกเรียนเป็นหัวข้อๆได้ ปัญหามันเลยอยู่ตรงนี้
ต้องหาครูที่ชอบคณิตศาสตร์จริงๆ
การเลี่ยงไม่เรียนคณิตศาสตร์ในโรงเรียนอาจจะใช้ได้สำหรับคนที่มุ่งเน้นทักษะในด้านอื่น แต่สังคมโดยรวมจะเป็นผู้สูญเสียหากคนส่วนใหญ่พยายามหลีกเลี่ยงวิชาคณิตศาสตร์ไปเรียนในสายอื่นแทนในระดับสูงขึ้นไป อย่างหลายคนหันไปเรียนสายศิลป์ทั้งๆที่ความสามารถทางคณิตศาสตร์นั้นมีอยู่เต็มเปี่ยม
ในอเมริกานั้นทั้งภาครัฐและเอกชนกำลังขาดแคลนแรงงานด้าน STEM เป็นอย่างมาก และอีกหลายๆประเทศต่างก็พยายามกันอย่างหนักเพื่อหาคนมาทำงานด้านนี้ ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญต่างก็พยายามหาวิธีการในการจะแก้ปัญหากลัวคณิตศาสตร์ในทุกช่วงชีวิตของประชาชน
Beilock กล่าวว่าการพยายามแก้ไขปัญหานี้ควรเริ่มจากที่บ้าน โดยหล่อนได้นำเสนอว่า พ่อแม่นั่นแหละที่จะส่งผ่านความกลัวคณิตศาสตร์ให้กับเด็กๆตอนที่พยายามช่วยลูกทำการบ้าน แต่งานวิจัยของ Beilock ยังแสดงให้เห็นว่าการให้เด็กได้สัมผัสกับคณิตศาสตร์มากๆ อย่างการเล่นเกมคณิตศาสตร์ผ่านแอพต่างๆกับพ่อแม่ จะช่วยให้เด็กทำคะแนนคณิตศาสตร์ได้ดีขึ้นที่โรงเรียน
หล่อนเชื่อว่าการที่พ่อแม่ได้เล่นเกมส์คณิตศาสตร์กับลูกยังทำให้พ่อแม่มีความมั่นใจในความสามารถของตัวเองมากขึ้น ทำให้พ่อแม่เองหยุดที่จะคิดว่าคณิตศาสตร์นั้นยากอีกด้วย
Shulamit Kahn ผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่ Boston University;s Questrom School of Bussiness ผู้ซึ่งเขียนหนังสือเกี่ยวกับช่องว่างระหว่างวัยใน STEM เชื่อว่า การให้นักเรียนโดยเฉพาะเด็กผู้หญิงได้มีแบบอย่างที่ดีตั้งแต่ยังเล็กนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก
หล่อนคิดว่ากุญแจสำคัญคือการหาครูสอนที่เป็นผู้หญิงที่ชอบสอนคณิตศาสตร์มาสอนเด็กเล็ก นั่นหมายถึงการรับสมัครครูสอนคณิตศาสตร์ควรจะต้องมีข้อกำหนดเรื่องประสบการณ์ทางคณิตศาสตร์ หรือมีประสบการณ์การฝึกฝนที่เกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์ มาพิจารณา
การช่วยให้เด็กๆรู้สึกมั่นใจเพียงพอที่จะพูดโต้ตอบในห้องเรียนก็เป็นสิ่งสำคัญด้วยเหมือนกัน เป็นผลจากการศึกษาของนักวิจัยชื่อ Einar Skaalvik ซึ่งได้ศึกษาเกี่ยวกับการกลัวคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยในประเทศนอร์เวย์
งานวิจัยของหล่อนระบุว่า นักเรียนที่มีความกังวลเกี่ยวกับคณิตศาสตร์จะกลัวเสียหน้าต่อหน้าชั้นเรียนและจะไม่ยอมถามตอบอะไรเลย ครูจึงควรจะต้องเน้นย้ำเสมอว่าการตอบผิดถือเป็นกระบวนการหนึ่งของการเรียนรู้ และเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ครูต้องสร้างบรรยากาศการเรียนรู้แบบเน้นกระบวนการเรียน มากกว่าที่จะเน้นที่ประสิทธิภาพ
การที่โรงเรียนมุ่งไปที่การให้คะแนน การให้เกรด การเป็นเด็กขึ้นบอร์ด มันจะทำให้เด็กเกิดความเครียด และการจัดลำดับเด็กในห้องเรียนจะทำให้เกิดการปิดกั้นการพัฒนาศักยภาพของเด็กแต่ละคนไป
ลดความกังวล
ในเด็กโตก็ทำนองเดียวกัน มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าการจัดการเรื่องความกังวลตรงนี้จะช่วยให้เด็กโตเรียนดีขึ้นด้วย
การศีกษาวิจัยของ Beilock ในระดับมหาวิทยาลัยของเด็กที่มีความกลัวคณิตศาสตร์พบว่า หากให้เด็กได้เขียนเรียงความสั้นๆเพื่อแสดงออกถึงตัวตนของตัวเองก่อนการสอบคณิตศาสตร์นั้น ช่วยให้เด็กๆทำคะแนนได้ดีขึ้น
โดยเรียงความที่เด็กเขียนจะเป็นการให้แสดงความรู้สึกกังวลเกี่ยวการสอบที่กำลังจะมาถึง ซึ่งงานวิจัยให้ข้อคิดเห็นว่า การเขียนเรียงความอาจจะช่วยให้เด็กๆเข้าใจและควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ดีขึ้น ปลดปล่อยทรัพยากรทางสมองในด้านการรับรู้เพื่อเพิ่มเติมสมองส่วนที่ใช้งาน และประสิทธิภาพให้สูงขึ้นสำหรับการสอบที่จะตามมา
นั่นคือเหตุผลที่ว่าเหตุใดหากคุณรู้สึกเครียดหนักก่อนสอบคณิตศาสตร์ การใช้เวลาสักสองสามนาทีในการเข้าให้ถึงความรู้สึกเหล่านั้นก่อนการเริ่มต้นสอบอาจจะช่วยได้มาก Bailock กล่าวว่า มันเป็นการทำให้มั่นใจว่าคุณกำลังแปลความรู้สึกของคุณได้อย่างถูกต้อง การทีคุณตื่นเต้น ใจเต้นแรง เหงื่อชุ่มฝ่ามือ ไม่ได้หมายความว่าคุณจะทำข้อสอบไม่ได้
การเรียนรู้ระดับสูงขึ้นไปหลายๆสถานศึกษาจึงมีห้องเรียนที่ต้องการแก้ปัญหาการกลัวคณิตศาสตร์ โดยหลักๆคือการสร้าง mindset ซึ่งจากงานวิจัยสรุปได้ว่าการเรียนรู้ที่ใช้ระบบ AI เพื่อให้เด็กๆได้เรียนตามความสามารถของตัวเองโดยมีครูคอยเป็นพี่เลี้ยง เด็กๆจะไม่รู้สึกกดดันถึงการเรียนไม่ทันเพื่อน หรือการไม่กล้าถามคำถามเพราะกลัวอายเพื่อน และไม่ได้รู้สึกกลัวครูผู้สอนที่อยู่หน้าห้อง สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดการกลัวคณิตศาสตร์ลง
แน่นอนว่าถ้าเราไม่ช่วยทำให้เด็กๆหายกลัวคณิตศาสตร์ลง สังคมจะขาดการพัฒนาองค์ความรู้ด้านนี้ในขณะที่เด็กหลายๆคนน่าเสียดายที่ต้องหันเหตัวเองไปเรียนด้านอื่นทั้งๆที่ศักยภาพเขามีอย่างเต็มเปี่ยม
บทความแปลจาก bbc.com ต้นฉบับลงวันที่ 13 พ.ค.2563