ล่าสุด

นักวิทยาศาสตร์บันทีกคลื่นแรงโน้มถ่วงได้อีกแล้วเป็นครั้งที่ 4

นักวิทยาศาสตร์บันทีกคลื่นแรงโน้มถ่วงได้อีกแล้วเป็นครั้งที่ 4

ปีที่แล้วมีข่าวฮือฮาในวงการวิทยาศาสตร์กับการที่นักวิทย์ได้ยืนยันถึงการมีอยู่ของคลื่นแรงโน้มถ่วงด้วยการใช้ระบบ LIGO (Laser Interferometer Graviational-wave Observatory) ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน พวกเขาก็ได้บันทึกคลื่นดังกล่าวได้อีก 2 ครั้ง จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจักรวาลและมีการส่งคลื่นดังกล่าวออกมา

ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 4 ของการตรวจพบคลื่นดังกล่าว เนื่องจากนักดาราศาสตร์ได้ประกาศถึงกลุ่มคลื่นระลอกใหม่ออกมา และนับเป็นครั้งแรกที่พวกเขาได้ตรวจพบคลื่นดังกล่าวผ่านหัววัดสัญญาณตัวที่ 3 ซึ่งติดตั้งอยู่ที่ประเทศอิตาลี

ก่อนที่จะดูถึงรายละเอียดว่าทำไมหัววัด 3 ตัวดีกว่าเดิม เรามาดูว่าคลื่นแรงโน้มถ่วงมันคืออะไร นั่นก็คือเมื่อมีเหตุการณ์ใหญ่ๆเกิดขึ้นในจักรวาล เช่นหลุมดำสองหลุมรวมเป็นหลุมเดียว มันจะส่งคลื่นออกไปทุกทิศทางและจะเดินทางผ่านห้วงกาลอากาศและเวลา (Spacetime) ด้วยความเร็วแสง

ไอสไตน์ ได้เคยทำนายไว้ว่าคลื่นแบบนี้มีอยู่จริง แต่ยังไม่มีใครค้นพบจนกระทั่งโครงการ LIGO ได้เกิดขึ้นและตรวจวัดคลื่นเหล่านี้ออกมาได้

ทั้งนี้หัววัด LIGO และอันใหม่ที่ชื่อว่า Virgo นั้นก็คล้ายๆกัน นั่นคือมีท่ออุโมงยาวมากๆที่ตั้งฉากกัน ตรงจุดที่มันตัดกันก็มีการแยกแสงเลเซอร์ออกมา ส่วนหนึ่งเดินทางไปด้านนึงของท่อ อีกส่วนก็เดินทางไปอีกท่อ

ปลายอุโมงค์ก็จะมีกระจกทำหน้าที่สะท้อนแสงเลเซอร์กลับมา โดยหากไม่มีเหตุการณ์ในห้วงจักรวาลเกิดขึ้นลำแสงทั้งสองจะหักล้างกันพอดี

แต่หากมีเหตุการณ์ใหญ่ๆเกิดขึ้นเหมือนที่กล่าวมาแล้วข้างต้น คลื่นแรงโน้มถ่วงเหล่านั้นก็จะทำให้สภาพกาลอากาศเปลี่ยนไป นั่นคือมันจะบิดและยืดหรือหดอุโมงค์ลงเล็กน้อย

เมื่อเกิดกรณีนี้ขึ้นลำแสงเลเซอร์ทั้งสองจะสะท้อนกลับมาที่เวลาต่างกันเล็กน้อย เมื่อมันมาเจอกันก็จะเกิดความแตกต่างและเป็นแหล่งข้อมูลให้นักดาราศาสตร์ใด้แปลความหมายว่ามันเกิดขึ้นเมื่อไหร่และที่ไหน

ก่อนหน้านี้มีการใช้หัววัดสองหัวทั้งใน Washington และ Louisiana ต่อมา Virgo ก็เข้าร่วมด้วย ผลการวัดค่าได้ครั้งนี้แสดงถึงหลุมดำสองหลุมขนาด 31 และ 25 เท่าของมวลของดวงอาทิตย์ของเรา ได้รวมตัวกันที่ระยะทางประมาณ 1.8 พันล้านปีแสง ผลที่ได้คือหลุมดำขนาดประมาณ 53 เท่าของมวลของดวงอาทิตย์ ส่วนมวลที่หายไป 3 หน่วย ( 3 เท่าของมวลดวงอาทิตย์) นั้นก็ถูกแปลงกลายเป็นพลังงานคลื่นแรงโน้มถ่วงนั่นเอง

การมีหัววัดตัวที่ 3 เข้ามาทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถระบุได้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดนั้นมาจากทิศทางใด ซึ่งเป็นระบบการทำงานเช่นเดียวกันกับการระบุตำแหน่งแผ่นดินไหวนั่นเอง นั่นคือยิ่งหัววัดอยู่ห่างมากกันเท่าไหร่ ก็จะสามารถระบุตำแหน่งที่ไกลๆออกไปได้แม่นยำขึ้นนั่นเอง

คาดว่าอีกไม่นานจะมีการแถลงข่าวถึงเหตุการณ์ใหญ่ๆเกิดขึ้นอีก ซึ่งอาจจะเป็นเหตุการณ์ที่มองเห็นได้ นั่นคือการที่ดาวนิวตรอนสองดวงกำลังรวมตัวกันนั่นเอง

ภาพและข่าวจาก Engadget.com

Advertisment