เหยี่ยวจับโดรน ตำรวจฮอลแลนด์ฝึกไว้แล้ว
เหยี่ยวจับโดรน ตำรวจฮอลแลนด์ฝึกไว้แล้ว
ตอนนี้หน่วยงานด้านความมั่นคงไม่ว่าประเทศไหนๆ ต่างก็กลัวการนำโดรนมาใช้ในทางที่ผิดกันทั้งนั้น เพราะไม่ว่าจะสร้างกฏเกณฑ์อะไรขึ้นมา ก็ย่อมมีคนแหกกฏอยู่เนืองๆ ยิ่งเดี๋ยวนี้โดรนประสิทธิภาพสูงราคายิ่งถูกลงเรื่อยๆ กลายเป็นว่าจะมีโอกาสสูงที่จะมีคนใช้งานผิดที่ผิดทางมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นการบินเหนือเรือนจำเพื่อส่งยาเสพติด หรือส่งมือถือเข้าไปเป็นต้น
การที่จะจัดการกับโดรนเหล่านี้เวลามันขึ้นบินแล้วนั้นทำได้หลากหลายวิธีเช่น แจมสัญญาณคลื่นวิทยุเพื่อให้มันบินกลับที่ตั้งโดยอัตโนมัติ หรืออาจจะใช้โดรนที่ใหญ่กว่ามาบินแล้วจับมันไป แต่ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด อาจจะเสี่ยงที่ทำให้โดรนเป้าหมายอยู่เหนือการควบคุมแล้วอาจจะตกลงมาสร้างความเสียหายให้กับคนหรือทรัพย์สินด้านล่างได้
ตำรวจประเทศฮอลแลนด์เลยนำเหยี่ยวมาฝึกจับโดรนซะเลย แล้วเอาโดรนลงมาที่พื้นตามตำแหน่งที่ต้องการได้ทันที
จากวิดีโอนี้ซึ่งเป็นภาษาดัช แต่คิดว่าไม่ต้องบรรยายอะไรมาก เนื่องจากตำรวจฮอลแลนด์มองว่าโดรนน่าจะเป็นปัญหามากในอนาคต เลยได้มีการพยายามทดสอบหนทางในการจัดการกับโดรนเหล่านั้นในกรณีฉุกเฉิน เช่นมีโดรนมาขวางเฮลิคอปเตอร์พยาบาลเป็นต้น ทางตำรวจฮอลแลนด์เลยกำลังหาวิธีการทั้งในรูปแบบอิเลคทรอนิคส์และทางกายภาพทั้งการยิงตาข่ายไปดัก และรวมถึงฝึกเหยี่ยวให้ไปจับโดรนลงมา
กรณีการทดลองครั้งนี้ทางตำรวจฮอลแลนด์ได้ร่วมกับบริษัทฝึกสัตว์ในเมือง Hague เพื่อจะดูว่าเหยี่ยวจะสามารถจัดการกับโดรนได้อย่างชาญฉลาดหรือไม่ โดยเหยี่ยวตัวนี้ได้รับการฝึกเพื่อให้หาเป้าหมายและจับโดรน ซึ่งจริงๆแล้วนกล่าเหยื่อมักจะมีปฏิกริยาตอบสนองต่อโดรนโดยตรง ดังนั้นคิดว่าไม่น่าจะต้องฝึกอะไรมากมาย
หลังจากเหยี่ยวจับโดรนได้แล้ว เหยี่ยวมันจะหาที่ปลอดภัยห่างจากผู้คนในการลงพื้น แล้วมันก็จะพยายามกัดเหยื่อไม่มีชีวิตของมันนิดหน่อย ก่อนที่ครูฝึกจะให้รางวัลกับมันด้วยอาหารจริง
ประโยชน์ของการใช้เหยี่ยวจับก็คือไม่ต้องกังวลว่าโดรนจะบินแบบไร้ทิศทางแล้วไปตกผิดที่ เนื่องจากเหยี่ยวจะมีความชำนาญในการจับสิ่งของระหว่างบินกลางอากาศ พร้อมกับการนำโดรนลงพื้นโดยไม่ไปทำอันตรายกับใคร
แม้ดูเหมือนว่าเหยี่ยวน่าจะเป็นคำตอบที่ใช่ในการไล่จับโดรนของ DJI Phantom ลงพื้น แต่โดรนที่มีขนาดใหญ่กว่านี้นั้นอาจจะเป็นอันตรายกับเหยี่ยวได้เนื่องจากใบพัดที่หมุนเร็วและคมกริบที่ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ อาจจะทำให้นิ้วของเหยี่ยวบาดเจ็บได้ ยิ่งในอเมริกาแล้วเหยี่ยวถือเป็นสัตว์คุ้มครองถ้าเหยี่ยวบาดเจ็บก็จะเป็นปัญหากับคนที่สั่งงานเหยี่ยว
ในวิดีโอ มีการพูดถึงการออกแบบหาวิธีปกป้องเหยี่ยวจากใบพัดของโดรน ซึ่งถือเป็นสิ่งดี แต่ในแง่ความจริงก็ยังมีข้อกังวลหลายเรื่องหากจะมีการใช้เหยี่ยวจับโดรนจริงๆ แต่คิดๆดูแล้วก็น่าจะคุ้มค่าในระดับหนึ่ง หากรอเวลา 25 นาที ที่แบตโดรนจะหมดไม่ได้ แต่ไม่แน่ว่าในอนาคต โดรนอาจจะบินได้นานเป็นชั่วโมง ก็อาจจะต้องหาวิธีในการหยุดโดรนให้ได้เร็วขึ้น
จากข้อมูลของตำรวจฮอลแลนด์ระบุว่า การทดสอบนี้จะทำไปอีกระยะไม่กี่เดือน ซึ่งถึงจุดนั้นพวกเขาจะตัดสินใจอีกทีว่า เหยี่ยวจะเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมหรือไม่ในการจับโดรนที่บินในเขตหวงห้าม
Leave a comment
You must be logged in to post a comment.