รีวิวการติดตั้งและใช้งานสวิทช์สัมผัส Gratia
รีวิวการติดตั้งและใช้งานสวิทช์สัมผัส Gratia
คราวที่แล้วเราได้ รีวิวแกะกล่องสวิทช์สัมผัส Gratia กันมาแล้วนะครับ คราวนี้เรามาดูการติดตั้งและใช้งานสวิทช์สัมผัสตัวนี้กับสถานการณ์จริงกันนะครับ โดยสามารถทำเองได้ ไม่ต้องจ้างช่างไฟฟ้ามาแต่อย่างใด อุปกรณ์แค่ไขควงหัวแฉกกับหัวแบนอย่างละอันก็เพียงพอแล้ว
เริ่มต้นจากการหาตำแหน่งที่เหมาะสมที่จะใช้ gratia สวิทช์สัมผัสก่อนโดยใช้ให้เหมาะสมกับจำนวนจุดการปิดเปิดไฟของจุดนั้น ถ้ามีสวิทช์ไฟสองตัวก็ใช้แบบสองจุดเป็นต้น โดยจะใช้ร่วมกับกรณีที่มีทั้งปลั๊กไฟและสวิทช์ไฟร่วมกันไม่ได้
ที่บ้านก็มีอยู่จุดหนึ่งซึ่งมีสวิทช์อยู่สามตัวด้วยกัน เลยอยากจะเปลี่ยนเป็นแบบ Gratia สามจุดเลย ตำแหน่งดังกล่าวเป็นดังรูปด้านล่าง
เมื่อได้เจอตำแหน่งที่ต้องการแล้ว ก็เปิดไฟทิ้งไว้ แล้วไปยังชุดเบรกเกอร์ โยกจนกว่าไฟในตำแหน่งสวิทช์ดังกล่าวจะดับ เพื่อจะได้ไม่ต้องดับไฟทั้งบ้าน แต่หากมีชุดปลั๊กไฟอยู่ด้วยก็อาจจะต้องโยกเบรกเกอร์เพิ่มอีกตัวที่ส่งไฟให้กับปลั๊กไฟ หากไม่มั่นใจจะปิดเบรกเกอร์ไฟทั้งบ้านก็ไม่เสียหายอะไร เพราะการติดตั้งแต่ละจุดไม่เกิน 5 นาทีเท่านั้น
เมื่อไฟที่สวิทช์นี้ควบคุมการทำงานดับลง ก็ใช้ไขควงปากแบนงัดฝาครอบออกมา โดยงัดตรงไหนก็ได้เพราะเราใช้วิธีดันกับฝาบ้านอยู่แล้ว ก็จะปรากฏดังภาพ แล้วเริ่มไขสกรูด้านซ้ายขวาออกด้วยไขควงหัวแฉก
ดึงชุดสวิทช์นี้ออก ไม่ต้องกลัวขาดหรือกลัวพัง เพราะการติดตั้งก่อนหน้านี้เขาต้องมีพื้นที่ให้เข้าสายอยู่แล้ว สายเลยต้องยาวพอที่จะดึงออกมาได้ทั้งหมด อีกทั้งเป็นสายทองแดงแข็งไม่มีทางขาดอยู่แล้ว ยกเว้นว่าจะดึงแรงเกินไปสายจึงจะหลุดจากสกรูที่ยึดปลายสายอยู่
จากนั้นศึกษาโครงสร้างของสายไฟให้ดี โดยด้านหนึ่งจะต้องเป็นสายรวมที่มาเข้าชุดสวิทช์ แล้วจึงจะแยกไปหลดใครหลอดมัน ปรากฏว่าชุดสวิทช์ไฟที่บ้านชุดนี้ชวนให้งงนิดนึง เพราะสวิทช์ตัวที่สามไม่ได้ต่อกับอะร น่าจะเป็นเพราะเป็นสายของระบบกระดิ่งที่ช่างไฟคนเก่าเดินสายผิดพลาดมากกว่า
เมื่อศึกษารูปแบบสายแล้ว ก็จัดการแยกออกมาให้ชัดเจน ตัวอย่างดังรูปด้านล่างคือสายไฟเข้านั้นชี้เอาไว้ด้วยปลายนิ้ว เพราะมันจะจ่ายไปให้กับสวิทช์ทุกตัว เราเลยแยกมาซ้ายสุดเนื่องจากสวิทช์ใหม่ของ Gratia นั้นจะอยู่ทางซ้ายสุดหากมองจากฝั่งปุ่มสวิทช์เช่นกัน จากนั้นจึงทำการถอดสายที่จำเป็นออก
ก็จะเหลือสายไฟที่จะใช้งานดังภาพ ฝั่งซ้ายเป็นไฟเข้า ฝั่งขวาก็ไปยังหลดไฟ
สวิทช์ชุดเก่าที่ถอดมา ก็ใส่กรอบไว้ตามเดิม แล้วเก็บไว้ในกล่อง Gratia ที่ให้มานั่นแหละ เผื่อสวิทช์มีปัญหาในอนาคตต้องส่งซ่อมจะได้เอากลับมาเปลี่ยนได้ ของใช้ทุกชนิดย่อมมีอายุการใช้งานของมัน แม้สวิทช์เก่าก็เหอะนานๆเข้าก็ต้องเปลี่ยน ระหว่างนี้ยังสามารถเก็บสวิทช์เก่าไว้เป็นอะไหล่สวิทช์ตำแหน่งอื่นๆในบ้านได้อีกด้วย
จากนั้นก็เอาสวิทช์ Gratia มาแล้วสังเกตตำแหน่งต่างๆ จะเห็นว่าขวาสุดของด้านหลังคือไฟเข้า แล้วไล่มาทางซ้ายจะเป็นไฟออกไปยังหลอดไฟต่างๆ จะเห็นว่าเราไม่ต้องเชื่อมสายไฟเข้าให้แต่ละสวิทช์อีก สบายกว่ากันเยอะ
เอาไขควงปากแฉกมาคลายสวิทช์แต่ละตัวก่อน เนื่องจากสินค้ามาใหม่เขาจะขันไว้สกรูจะได้ไม่หลุด เสร็จแล้วก็งัดฝาครอบออกมา ดูรายละเอียดได้จากกระทู้ แกะกล่องสวิทช์ Gratia นะครับ
จากนั้นก็พลิกกลับด้าน จะเห็นว่าสายไฟเข้าก็จะอยู่ทางซ้ายพอดี ที่เหลือก็ไล่สายไปตามตำแหน่งเดิมที่ควรจะเป็นของมัน กรณีนี้ใช้แค่เพียงสองช่องเท่านั้น
เสร็จแล้วก็จัดการดันกลับเข้าไปในกล่องเหมือนเดิม แล้วนำสกรูมาขันยึดเข้ากับกล่องเดิม ทั้งนี้พบสกรูที่ให้มาใหม่นั้นอาจจะขันลำบาก จึงแนะนำว่าสกรูที่ใช้ยึดตัวเก่านั่นแหละจะเหมาะที่สุดเพราะในภาวะนั้นๆของผนัง ช่างคนเก่าเขาจะหาสกรูที่ได้ขนาดและความยาวที่เหมาะสมมาแล้ว สกรูตัวใหม่อาจจะมีปัญหาในบางจุด
ขันให้พอแน่น จับดูไม่โยกเยกก็พอแล้ว ถ้าขันแน่นเกินไปอาจจะเกิดภาวะสกรูหมุนฟรีได้ แล้วจะต้องหาสกรูตัวใหญ่กว่ามาใช้อีก
เสร็จแล้วก็เอากรอบฝาหน้ามาดันเข้าไปที่เดิม ผนังบ้านก็จะดูดีขึ้นทันตา เป็นบ้านไฮเทคขึ้นมาทันที เทียบกับสวิทช์ตัวเก่าแล้วดูเชยไปเลย
เสร็จแล้วก็เปิดเบรกเกอร์ จะเห็นว่าหากไฟไม่สว่างหรือภาวะวงจรเปิด ไฟ LED สีน้ำเงินจะติดค้างตลอดเวลา แสงก็ไม่ได้จ้ามาก อย่างน้อยก็จะได้รู้ว่าไฟดับหรือไม่ดับไปในตัว เมื่อเอามือไปแตะเบาๆ ไฟสีแดงก็จะสว่างแทนที่สีน้ำเงิน
กลับมาดูที่ตัวรีโมท หากเราซื้อรีโมทมาด้วย ก็ต้องทำการเชื่อมโยงรีโมทของเราเข้ากับสวิทช์ช่องนั้นๆ
เริ่มต้นจากการเอานิ้วกดสวิทช์ช่องนั้นๆ ค้างไว้ประมาณ 5 วินาที จะได้ยินเสียง Beep โดยไม่ต้องสนใจว่ามันจะปิดหรือเปิดอยู่
จากนั้นก็กดปุ่มบนรีโมท ด้วยปุ่มที่เราต้องการ โดยกดค้างไว้จนกว่าจะได้ยินเสียง Beep อีกครั้ง เป็นอันเสร็จสิ้น เราสามารถเปิดปิดไฟชุดนี้ด้วยรีโมทได้แล้ว โดยหากมีหลายปุ่ม ก็ต้องทำวิธีเดียวกันกับทุกปุ่ม
สวิทช์ที่นำมาติดตั้งนี้เป็นสวิทช์ไฟของลานจอดรถ โดยตัวสวิทช์จะอยู่ในบ้าน ดังนั้นจึงเหมาะสำหรับกรณีที่กลับบ้านมาแล้วที่บ้านยังมืดอยู่ สามารถสั่งเปิดปิดไฟจากรีโมทในรถยนต์หน้าบ้านได้เลย โดยได้ทดลองเดินไปอีกฝั่งหนึ่งของถนนหน้าบ้าน ก็ยังสามารถควบคุมการปิดเปิดไฟในบ้านอยู่
ดังนั้นหากใครที่กำลังคิดว่านอกจากห้องนอนแล้ว ควรจะติดตั้งสวิทช์สัมผัสพร้อมรีโมทที่ไหนอีกบ้าง ก็ขอแนะนำให้ติดแทนสวิทช์ไฟโรงรถอีกตำแหน่งหนึ่ง เวลาเข้าบ้านจะได้ไม่ต้องเดินในความมืดเพื่อที่จะเข้าบ้านแล้วเปิดไฟอีกต่อไป พอออกจากบ้านเสร็จก็สั่งปิดไฟได้เลย กลับมาถึงบ้านก็สั่งเปิดอีก เหมือนคนที่มีประตูอัตโนมัตินั่นแหละครับ สั่งปิดเปิดจากรีโมทได้เลย คนในบ้านก็ยังสามารถควบคุมการปิดเปิดได้อีกทางหนึ่ง
ก็ถือเป็นการจบรีวิวการติดตั้งและการใช้งาน สวิทช์สัมผัส Gratia แบบสามช่องแล้วนะครับ พร้อมวิธีการใช้งานรีโมทด้วย ใครสนใจอยากได้สวิทช์ไฮเทคแบบนี้ไปใช้ที่บ้าน ติดต่อได้ที่บริษัท Gratia นะครับ
Leave a comment
You must be logged in to post a comment.